แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ที่รู้จักกันคือ แก๊สไข่เน่า น้ำหนักโมเลกุล 34.04 จุดเดือด -85.5 C จุดหลอมเหลวอยู่ที่ -60.7 C ความหนาแน่นของแก๊ส 1.393 g/L ที่อุณหภูมิ 25 C ความดันบรรยากาศ 1 atm ซึ่งมีค่าน้ำหนักมากกว่าอากาศ ค่าปริมาณไอระเหยของแก๊สต่ำสุดที่สามารถเกิดการระเบิดได้ หากมีออกซิเจนเพียงพอ (Lower explosive Limit,LEL) อยู่ที่ 4% จึงจัดว่าเป็นแก๊สที่มีความว่องไวในการลุกติดไฟได้ง่ายมากและเกิดการเผาไหม้อย่างรุนแรง และ อุณหภูมิที่สามารถลุกติดไฟได้เองอยุ่ที่ 290 C
แหล่งกำเนิดของแก๊สชนิดนี้เกิดจากกระบวนการธรรมชาติ และ กระบวนการทางอุตสาหกรรม ถ้าเป็นกระบวนการธรรมชาติจะเป็นการย่อยสลายซากอินทรีย์สารทีมีธาตุซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบโดยแบคทีเรียที่ไม่ใช้แก๊สออกซิเจนส่งผลให้เกิดการปล่อย แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ จำนวนมากซึ่งก็จะส่งผลไปทำลายระบบนิเวศน์ของชายฝั่งอีกด้วย
ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ขบวนการกลั่นแยกปิโตรเลียม การผลิตสิ่งทอ การฟอกหนัง การทำเหมืองแร่ กระบวนการบำบัดน้ำเสียและปฏิกูล
ระดับความเป็นพิษของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์
หน่วยงาน The American National Standards Institute Standard ได้แบ่งระดับความเป็นพิษดังตารางที่ 1 จากตารางจะเห็นว่า แก๊สชนิดนี้ส่งผลเสียต่อมนุษย์หากได้รับที่ความเข้มข้นต่ำก็ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงก็ทำให้เสียชีวิตได้ทันที ยิ่งถ้าสัมผัสกับไอน้ำจะเปลี่ยนเป็นกรดซัลฟูริกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง สามารถกัดกร่อนบ้านเรือนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆได้อย่างรุนแรง
ระดับความเข้มข้น | ระยะเวลาที่ได้รับ | ผลกระทบต่อร่างกาย |
10 ppm | ขณะที่สัมผัสและสูดดม | เกิดการระคายเคืองที่ตา |
50-100 ppm | 1 ชั่วโมง | จะส่งผลระคายเคืองต่อเยื่อนัยน์ตาและระบบทางเดินหายใจ |
50-100 ppm | 2-15 นาที | มีอาการไอ ระคายเคืองตา สูญเสียการรับกลิ่น |
100 ppm | 16-30 นาที | หากมีอาการสูดดมหรือสัมผัส ทำให้หายใจติดขัด หายใจลำบาก มีอาการมึนงง |
100 ppm | 60 นาที | หากมีอาการสูดดมหรือสัมผัสต่อไปจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนมากขึ้น หากสูดดมต่อไปจะทำให้เสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง |
200-300 ppm | 60 นาที | หากมีอาการสูดดมหรือสัมผัสจะส่งผลต่อเนื้อเยื่อตา ทำให้หายใจติดขัด ปวดแสบที่ลำคอและตา |
500-700 ppm | 30-60 นาที | หากมีอาการสูดดมหรือสัมผัสจะทำให้สมองถูกทำลาย สูญเสียความสามารถในการสั่งการและอาจถึงขั้นเสียชีวิต |
700-1000 ppm | ช่วงเวลาสั้นๆ | หากมีอาการสูดดมหรือสัมผัสจะทำให้หมดสติอย่างรวดเร็ว หยุดการหายใจเเละเสียชีวิต |
1000-2000 ppm | ทันที ที่ได้รับ | หากมีอาการสูดดมหรือสัมผัสจะทำให้หมดสติทันที หยุดการหายใจและเสียชีวิตอันรวดเร็ว |
หมายเหตุ : ผู้ที่หยุดหายใจในระยะเวลาสั้น อาจจะรอดชีวิตได้ ถ้าถูกแยกตัวออกมาจากแหล่งที่มีแก๊สมีระดับความเข้มข้นสูงมาสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ในเวลาอันรวดเร็ว
มาตรความปลอดภัยในการทำงานกับพื้นที่ที่มีแก๊ส
- ต้องมี เครื่องวัดแก๊ส ซึ่งจะคอยตรวจสอบก่อนทุกครั้งว่ามีแก๊สหรือไม่
- หากตรวจพบให้ทำการระบายอากาศจนกว่าจะหมดไป
- สวมอุปกรณ์ที่หายใจจากอากาศในถังหากต้องเข้าไปทำงาน
- เตรียมแผนฉุกเฉินที่สามารถช่วยชีวิตได้เต็มที่
ที่มา นิตยสาร OSHE ฉบับที่ 8.